ปราสาททามจาน
ปราสาทบ้านสมอ หรือ ปราสาททามจาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 12 บ้านทามจาน ตำบลสมอ อำเภอปรางค์กู่
จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 52 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 220 และ 2167 ก่อนถึงตัวอำเภอประมาณ 8 กิโลเมตร ปราสาททามจาน เป็นศาสนสถานที่สร้างด้วยศิลาแลง มีรูปแบบโบราณสถานที่เรียกกันว่า “อโรคยาศาลา” หรือศาสนสถานประจำโรงพยาบาล 1 ใน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโบราณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 เช่นเดียวกับโบราณสถานรูปแบบเดียวกันอีกหลายแห่งที่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ปราสาททามจาน เป็นปราสาทขอมโบราณขนาดเล็ก ปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลงย่อมุม มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางเข้าเพียงด้านเดียว ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ทำเป็นประตูหลอก กรอบประตูทำด้วยหินทราย ทับหลังเหนือกรอบประตูด้านทิศใต้ แกะสลักลวดลายไม่เสร็จ เป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เหนือหน้ากาลที่กำลังคายท่อนพวงมาลัย โดยใช้มือยึดจับพวงมาลัยซึ่งสลักลายใบไม้ม้วน มีบุคคล 2 คนนั่งพนมมือ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีวิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันตก รอบปราสาทประธานและวิหารทั้ง 4 ด้าน ล้อมด้วยกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหรือซุ้มประตูขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทมีสระน้ำขนาดเล็ก ขอบสระกั้นด้วยศิลาแลง
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาททามจานเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 หน้า 3679 – 3717 และประกาศกำหนดขอบเขตในกิจจานุเบกษาเล่มที่ 99 ตอนที่ 130 วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525 หน้า 3692 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 4 ไร่ 81 ตารางวา ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ได้ขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี พบโบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ ศิลาจารึก และรูปเคารพต่างๆ พร้อมได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2552 – 2555
ประกาศขึ้นทะเบียนปราสาททามจาน โดยกรมศิลปากร
สระน้ำขนาดเล็กอยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน
ชาลา (ทางเดิน) ทอดไปสู่บาราย (สระน้ำขนาดใหญ่) ซึ่งอยู่ทางด้านนอกกำแพงออกไปทางทิศตะวันออก
กำแพงแก้วสร้างด้วยศิลาแลง ล้อมรอบปราสาททามจาน
บรรณาลัยที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน
งานประเพณีไหว้พระธาตุปราสาททามจาน
เป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาในสมัยอดีต จะจัดในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และเป็นการอนุรักษ์ประเพณีโบราณสถาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานปราสาททามจาน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพของคนในท้องถิ่น และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของ จ.ศรีสะเกษ ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
จากคำบอกเล่าของนายประดัด หนองหว้า อดีตผู้ใหญ่บ้านทามจาน และนายบุญช่วย วิสา มัคฑายกวัดทามจาน เล่าว่า ตั้งแต่โบราณกาลสถานที่โบราณแห่งนี้ ชาวบ้านเชื่อว่ามี เจ้าพ่อหลังเหล็ก (พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภา) เป็นผู้คอยปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ดังนั้นบรรพบุรุษจึงได้ทำพิธีบวงสรวงด้วยเครื่องเซ่นไหว้ และจุดบั้งไฟถวายเพื่อทำการเสี่ยงทายและเพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและเหตุเคราะห์ร้ายต่างๆ ให้แคล้วคลาด เป็นการเอาฤกษ์เอาชัยและเป็นการขออนุญาตในการทำการเพาะปลูกและทำการเสี่ยงทายผลผลิตทางการเกษตรหรือสภาพแวดล้อมในการเพาะปลูกของปีนั้น อีกทั้งยังเป็นการเสี่ยงทายความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านด้วย ชาวบ้านจะทำการเสี่ยงทายโดยการการทำบั้งไฟขึ้นมา 3 บั้งเพื่อนำมาบวงสรวงเสี่ยงทายตามความเชื่อของชาวบ้าน ดังนี้
บั้งที่ 1 ทำการเสี่ยงทายฟ้าฝนว่าจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่
บั้งที่ 2 ทำการเสี่ยงทายว่าชาวบ้านในพื้นที่จะอยู่เย็นเป็นสุขหรือไม่
บั้งที่ 3 ทำการเสี่ยงทายว่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านจะเกิดโรคระบาดหรือล้มตายหรือไม่
โดยการเสี่ยงทายบั้งไฟนี้ ถ้าจุดบั้งไฟขึ้นไปแล้วหางบั้งไฟยังอยู่กับตัวบั้งไฟถือว่าสิ่งต่างๆ ในปีนั้นจะเกิดผลดี แต่ถ้าหางบั้งไฟหลุดหรือแยกออกจากตัวบั้งไฟถือว่าจะเกิดเหตุขึ้น โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้พบเจอปรากฏการให้เห็นหลายครั้งและเชื่อว่าเป็นการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังภัยต่างๆ